Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กรรมวิธีอุ้มบุญ (surrogacy)

ในขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยตอบปัญหาต่าง ๆ ให้แก่มนุษย์ มันก็ได้สร้างปัญหาหรือทำให้เกิดมีคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมามากมายพอ ๆ กัน มลภาวะและการเกิดโรคใหม่ ๆ ที่รักษาได้ยาก เป็นตัวอย่างของปัญหาจากเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยกันดี

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เราจะต้องเจอบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ปัญหาทางจริยธรรม ปัญหานี้ดูเหมือนจะไม่มีเทคโนโลยีใดจะหนีพ้นได้ อย่างน้อยก็ต้องเกี่ยวข้องกับมันไม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้เกิดคำถามในทางจริยธรรมได้มาก และง่าย ก็คือเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์

เทคโนโลยีที่ว่าครอบคลุมวิธีการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ต้นทุนหรือราคาก็มีแต่จะต่ำลง วิธีการดังกล่าว อาทิ การกระตุ้นให้หญิงสาวมีลูกได้ง่าย การทำเด็กหลอดแก้ว และกรรมวิธีอุ้มบุญ (surrogacy) ซึ่งหมายถึงการที่หญิงสาวยอมตั้งท้อง และเลี้ยงดูทารกในครรภ ์เพื่อมอบทารกนี้หลังคลอดแล้วให้คู่สมรส (ซึ่งไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีการธรรมดา) โดยทารกนี้อาจเกิดจากการฉีดเชื้ออสุจิของคู่สมรสฝ่ายชายเข้าไปในช่องคลอดของ "ผู้อุ้มบุญ" ซึ่งมิใช่ภรรยา หรือใช้วิธีการเด็กหลอดแก้วโดยนำตัวอ่อน ที่เกิดจากเชื้ออสุจิและไข่ของคู่สมรส เข้าไปฝากไว้ในมดลูกของผู้อุ้มบุญ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นข่าวดีสำหรับผู้ต้องการมีบุตรแต่สรีระไม่อำนวย แต่ในเวลาเดียวกันก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวถูกต้องในทางจริยธรรมหรือไม่

จะตอบคำถามดังกล่าวได้ จำต้องแยกปัญหาทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีออกเป็นสองประเภท ได้แก่ปัญหาจริยธรรมโดยตรงกับปัญหาจริยธรรมที่เป็นผลติดตามมา

ปัญหาจริยธรรมโดยตรง หมายถึงปัญหาที่เป็นการล่วงละเมิดชีวิต หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยตรง ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ก่อปัญหาจริยธรรมโดยตรงได้แก่ อาวุธเคมี ระเบิดปรมาณู การทำแท้ง การทดลองด้วยการฆ่าหรือทรมานสัตว์ แม้แต่การุณยฆาตก็จัดอยู่ในประเภทนี้ โดยเฉพาะการุณยฆาตที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมของผู้ป่วย

ปัญหาจริยธรรมที่เป็นผลติดตามมา หมายถึงปัญหาจริยธรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีโดยตรง แก่เกิดขึ้นโดยมีเทคโนโลยีนั้นมาเกี่ยวข้อง หรือ เทคโนโลยีนั้นเปิดโอกาสให้มีการละเมิดจริยธรรมได้ อาทิ การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยตัวมันเองมิได้ก่อให้เกิดการเบียดเบียนผู้ใด แต่สามารถทำให้เกิดปัญหาจริยธรรมติดตามมาได้มากมาย เช่น ทำให้มีการซื้อขายอวัยวะ ซึ่งแน่นอนว่าในกระบวนการดังกล่าวคนจนย่อมตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจเงิน ขณะเดียวกันร่างกายของเขาก็จะถูกลดสภาพกลายเป็นสินค้าในตลาด (ส่วนที่เป็นตลาดมืดหรือสว่างขึ้นอยู่กับกฎหมาย) ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การลักพา และฆ่าคนเพื่อเอาอวัยวะไปขาย

การรักษาความผิดปกติทางสมองด้วยเนื้อเยื่อทารก ก็สามารถก่อปัญหาจริยธรรมในลักษณะเดียวกัน เพราะอาจส่งเสริมให้มีการทำแท้ง (จะด้วยความยินยอมจากเจ้าของครรภ์หรือไม่ก็ตาม) เพื่อจะได้มี "วัตถุดิบ" ใช้รักษาผู้ป่วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนจนหรือคนในประเทศยากจนจะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการดังกล่าวเช่นกัน เพราะคนรวยเท่านั้นที่มีเงินพอจะเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจเพศหรือวินิจฉัยโรคขณะอยู่ในครรภ์ ก็อาจทำให้มีการทำแท้งมากขึ้น ดังในอินเดียและจีน ซึ่งมีอคติต่อลูกผู้หญิง (แต่บางคนอาจบอกว่า ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าการฆ่าเด็กเมื่อคลอดออกมาแล้ว)

แม้แต่การช่วยให้มีลูกง่ายด้วยการกระตุ้นฮอร์โมน ก็อาจก่อปัญหาจริยธรรมติดตามมา เพราะในหลายกรณีปรากฎว่าทำให้เกิดทารกแฝด ไม่ใช่แค่แฝดสอง หรือแฝดสาม หากเป็นแฝดหก แฝดเจ็ดหรือถึงแฝดแปด ในสหรัฐอเมริกา จำนวนแม่ที่ท้องแฝดสามขึ้นไปเพิ่มพรวดมากกว่าเท่าตัวในเวลาแค่ ๗ ปี เพราะเทคโนโลยีดังกล่าว ปัญหาตามมาก็คือการมีทารกแฝดจำนวนมากในท้อง ทำให้มีความจำเป็นต้องทำแท้ง หรือฆ่าทารกบางคนเพื่อสุขภาพของทารกที่เหลือ เนื่องจากร่างกายของแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูทารกให้มีสุขภาพดีได้ทุกคน หากปล่อยมีทารกหลายคนอยู่ในท้อง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อแม่แล้ว เด็กที่คลอดออกมามีสิทธิพิการหรือเจ็บป่วยด้วยโรคสารพัด ยังไม่ต้องพูดถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการช่วยชีวิตเด็กทันทีที่คลอดออกมา และการรักษาพยาบาลหลังจากนั้น แต่ถ้าจะยุติชีวิตของทารกบางคนในท้อง นอกจากจะเป็นปาณาติบาตแล้ว ยังคำถามอีกว่าจะเลือกทารกบางคนไหนใช้เกณฑ์อะไร ทำไมเขาถึงไม่มีสิทธิอยู่ในโลกเหมือนทารกคนอื่นในท้องเดียวกัน หากแยกปัญหาจริยธรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีออกเป็นสองประเภทดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอุ้มบุญนั้นมิได้ก่อปัญหาจริยธรรมโดยตรง แม้กรณีนี้จะคาบเกี่ยวกับศีลกาเมหรือศีลข้อที่สามในพุทธศาสนา แต่หากเป็นการยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย คือคู่สมรสทั้งสามีและภรรยาที่อยากมีบุตร และสามีกับภรรยาที่เป็นผู้อุ้มบุญ ก็มิอาจเรียกว่าผิดศีลได้

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมตามมา เพราะลูกที่เกิดมาอาจเกิดความสับสนว่าใครเป็นแม่ที่แท้จริงของตน คนที่อุ้มท้องหรือว่าคนที่เลี้ยงดูตนตั้งแต่เล็ก จริงอยู่ในทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายไทย มีคำตอบชัดเจนว่าเด็กเกิดหรือออกมาจากใครก็เป็นลูกของคนนั้น แต่ในแง่ความรู้สึกของเด็ก กฎหมายคงช่วยอะไรไม่ได้ ในกรณีที่เด็กคนนั้นเกิดจากกรรมวิธีเด็กหลอดแก้ว โดยถูกนำไปฝากไว้ในโพรงมดลูกของผู้อุ้มบุญ เด็กจะไม่มียีนหรือพันธุกรรมจากผู้อุ้มบุญ (ซึ่งเป็นแม่ตามกฎหมาย) แต่มียีนที่ได้รับจากผู้รับเลี้ยงตน (ซึ่งเป็นเจ้าของไข่) ในทางพุทธศาสนาถือว่าฝ่ายหลังคือแม่ที่แท้จริงเพราะเป็นเจ้าของไข่ ในกรณีเช่นนี้ เด็กอาจยอมรับได้ง่ายกว่าผู้ที่เลี้ยงดูตนนั้นเป็นแม่ของตน แต่ถ้าเด็กเกิดจากการฉีดเชื้ออสุจิเข้าทางช่องคลอดของผู้อุ้มบุญ ก็หมายความ ว่าเด็กมียีนของผู้อุ้มบุญด้วย ผู้อุ้มบุญจึงเป็นแม่ที่แท้จริงตามหลักกฎหมายและพุทธศาสนา แต่ถ้าเด็กถูกคาดหวังโดยให้ถือว่าผู้เลี้ยงดูตนนั้นเป็นแม่ เด็กย่อมเกิดความสับสนในที่สุดว่าควรจะรักหรือผูกพันกับ "แม่" คนไหนดี ยิ่งวัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับความผูกพันและหน้าที่ที่ลูกพึงมีต่อแม่ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเลือกใครเป็นแม่เด็กก็ไม่อาจหนีปัญหาทางความรู้สึกไปได้ง่าย ๆ

นี้ยังไม่พูดถึงความรู้สึกผูกพันที่ผู้อุ้มบุญมีต่อเด็กที่ตนคลอดออกมา แม้จะมีการทำข้อตกลงไว้แล้ว แต่ปัญาอาจเกิดขึ้นได้หากผู้อุ้มบุญกีดกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับเด็กที่ตนคลอดออกมา แม้จะมีการทำข้อตกลงไว้แล้ว แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ หากผู้อุ้มบุญ ถูกกีดกันไม่ให้เกี่ยวข้องกับเด็ก ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกา มีการฟ้องร้องกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต อีกนั่นแหละ แม้ศาลจะมีข้อยุติในที่สุด แต่ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาความรู้สึก และความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเลย ความรู้สึกผิดและความรู้สึกว่าถูกทำร้ายจิตใจเป็นปัญหาที่จะดำรงอยู่ต่อไป

ปัญหาที่เป็นผลพวงอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีเด็กหลอดแก้วก็คือ ในกระบวนการดังกล่าว แม้แพทย์จะนำมีตัวอ่อนย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกครั้งละไม่เกิน ๓ ตัว แต่ก็มักจะมีตัวอ่อนเหลืออยู่อีกซึ่งแพทย์จะเก็บแช่แข็งไว้ใช้ในโอกาสต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือจะทำอย่างไรกับตัวอ่อนแช่แข็ง หากคู่สมรสไม่ต้องการได้บุตรจากตัวอ่อนเหล่านี้อีกแล้ว ปัจจุบันมีตัวอ่อนหลายหมื่นตัวทั่วโลกที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษา ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะคนที่อยากฝากตัวอ่อนเอาไว้เพื่อมีลูกตอนแก่หรือเมื่อตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แล้วมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น การมีตัวอ่อนเหลือมาก ๆ นี้เป็นภาระแก่โรงพยาบาลทุกแห่งเพราะสิ้นเปลืองค่าเก็บรักษา ทางออกที่เห็นอยู่ก็คือทำลายตัวอ่อนเสียหากคู่สมรสไม่ต้องการแล้ว

ในทางกฎหมาย เราสามารถถียงกันได้ว่าใครมีสิทธิทำลายตัวอ่อน พ่อ แม่ หรือโรงพยาบาล แต่ในทางพุทธศาสนา ไม่มีใครที่มีสิทธิทำลายตัวอ่อน เพราะเจ้าของชีวิตตัวอ่อนก็คือตัวอ่อนเอง สิ่งที่ต้องตระหนัก โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธก็คือตัวอ่อนไม่ใช่แค่ชีวิตธรรมดา ๆ อย่างเซลล์ทั่วไปในร่างกายหรือเซลล์ต้นไม้ หากเป็นชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาถือว่าชีวิตมนุษย์เริ่มขึ้นตั้งแต่เป็นจิตแรกในท้องมารดา หรือพูดอีกนัยหนึ่งตั้งแต่เป็น "กลลรูป" เพราะเป็นขั้นที่จิตแรกหรือปฐมจิตเกิดขึ้นร่วมกับอรูปขันธ์อีกสาม คือ เวทนา สัญญาและสังขาร กลลรูปนั้นท่านว่าเป็นหยาดน้ำใส ที่เล็กเหลือเกิน ดังนั้นตัวอ่อนจึงน่าจะเลยจากขั้นที่เป็นกลลรูปไปแล้ว การทำลายตัวอ่อนโดยเจตนาจึงเท่ากับเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ จัดว่าเป็นปาณาติบาตเต็มขั้น

นี้เป็นปัญหาจริยธรรมจากการทำเด็กหลอดแก้ว ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไปไม่ได้ และผู้ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษก็คือ สามี ภรรยา ซึ่งเป็นที่มาของตัวอ่อนดังกล่าว ทั้งนี้เพราะตัวอ่อนเหล่านี้มิใช่อะไรอื่น หากคือ "ลูก" ของทั้งคู่นั่นเอง การมีส่วนร่วมในการทำลายตัวอ่อนของตน ก็คือการมีส่วนร่วมในการทำลายลูกของตน ส่วนร่วมดังกล่าวมิได้หมายความแค่การทำลายตัวอ่อนของตนเท่านั้น หากยังคลุมถึงการเข้าร่วมในการทำเด็กหลอดแก้ว ตั้งแต่แรกเลยทีเดียว

จริงอยู่ พ่อแม่ที่ตัดสินใจทำเด็กหลอดแก้ว น้อยคนจะรู้ว่า กระบวนการขั้นสุดท้ายของวิธีนี้ มักจะลงเอยด้วยการทำลายลูกของตน จึงไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา แต่เป็นเพราะความไม่รู้นี้เอง การทำลายตัวอ่อนจึงมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มต้นด้วยการที่ผู้ประสงค์จะมีบุตรตระหนักชัดว่า อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทำเด็กหลอดแก้ว มิใช่แค่การเสียเงินมากมายหรือโอกาสที่จะล้มเหลวเท่านั้น หากยังรวมถึงการปาณาติบาตต่อตัวอ่อน ซึ่งเป็นลูกของตนด้วย เมื่อรับรู้ถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแล้ว จึงค่อยพิจารณาใคร่ครวญว่า สมควรจะทำเด็กหลอดแก้วหรือไม่ ตนมีความพร้อมแค่ไหนที่จะเลี้ยงดูชีวิตใหม่ซึ่งจะเกิดมาให้มีความสุขและมีคุณภาพ เพื่อให้คุ้มกับอีกหลายชีวิตที่จะถูกทำลายไป จะดีกว่าหรือไม่ หากจะรับเด็กอื่นมาเป็นลูก เพื่อจะได้ไม่ต้องมีส่วนในการทำลายลูกแท้ ๆ ของตนแม้ว่าเป็นตัวอ่อนก็ตาม

การชี้ว่าอะไรเป็นปัญหาทางจริยธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ที่กล่าวมาข้างต้นก็อาจมีคนโต้แย้งว่าไม่เห็นเป็นปัญหาจริยธรรมที่ตรงไหน โดยเฉพาะหากถือว่าตัวอ่อนมิใช่ชีวิตมนุษย์ หากเป็นชีวิตที่มีค่าเสมอเซลล์ในร่างกายเท่านั้น กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ยากกว่าการชี้ปัญหาก็คือวิธีแก้ปัญหา ปัญหาจริยธรรมนั้นไม่อาจแก้ได้ด้วยการออกกฎหมาย การทำแท้ง แม้จะเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์โดยตรง แต่ก็ไม่อาจป้องกันหรือแก้ปัญหาด้วยการห้ามทำแท้ง เพราะบางครั้งก็ต้องเลือกว่าจะรักษาชีวิตแม่เอาไว้หรือสูญทั้งแม่และลูก การป้องกันมิให้มีการละเมิดจริยธรรมหรือมีปัญหาจริยธรรมตามมา คำถามอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะควบคุมผลเสียมิให้เกินเลยไป

เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่กล่าวมา ถึงแม้จะก่อปัญหาจริยธรรมไม่ประเภทใดก็ประเภทหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นหรือห้ามได้ ทางแก้จึงอยู่ที่การหามาตรการควบคุม ไม่ให้ก่อผลเสียทางจริยธรรมเกินขอบเขต ขอบเขตนั้นอยู่ที่ไหน และมาตรการใดที่จะควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องร่วมกันหาคำตอบ มิใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐหรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในที่สุดมักจะหนีไม่พ้นการแทรกแซงครอบงำของธุรกิจเอกชน ที่มีผลประโยชน์ผูกพักกับเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา นักวิชาการ นักกฎหมาย ชาวบ้าน รวมทั้งผู้หญิง สมควรที่จะมีส่วนร่วมในการหามาตรการหรือกฎเกณฑ์ดังกล่าว เพราะเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามมักส่งผลกระทบที่หลากหลายและกว้างไกล ครอบคลุมทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนโยงถึงปัญหาจริยธรรมทั้งสิ้น ลำดังคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมไม่สามารถมองเห็นหรือคาดการณ์ได้ อย่างครบถ้วนได้ การมีส่วนร่วมจากผู้คนทั้งสังคมเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหตุนี้

มาตรการของสังคมที่เข้มแข็งคือวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังทยอยตามมา รวมทั้งการเปลี่ยนพันธุกรรม เพื่อรักษาโรค (gene therapy) และการโคลนนิ่ง ซึ่งจะมาถึงในศตวรรษหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม