Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สถานะของบุคคล

สถานะของบุคคลà


บทนำ

สถานะของบุคคลมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ นับตั้งแต่คลอดและเริ่มมีสภาพบุคคล กฎหมายจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดสถานะหรือสถานภาพของบุคคลเพื่อให้การรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย สถานะของบุคคลจึงเป็นบ่อเกิดแห่งสิทธิและหน้าที่ของบุคคลซึ่งก่อตั้งขึ้นตามกฎหมาย การดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดสถานะของบุคคลตั้งแต่เกิด(เริ่มสภาพบุคคล)จนกระทั่งตาย(สิ้นสภาพบุคคล)

สถานะของบุคคล: ความหมาย

สถานะ หมายถึง ความเป็นไปหรือความเป็นอยู่[๑] ดังนั้น สถานะของบุคคล จึงหมายถึง ความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวและในประเทศชาติ ซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ตนสังกัดหรือดำรงชีวิตอยู่ได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในความเป็นอยู่ของบุคคลไว้ สถานะของบุคคลจะเป็นตัวกำหนดให้ทราบถึงความแตกต่างและความสามารถของบุคคล ในอันที่จะใช้สิทธิและการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้ให้ความหมาย คำว่า สถานะของบุคคล ไว้ว่า เป็นสถานะตามกฎหมายที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลและสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคล โดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครอง ตามสิทธินั้นหรือไม่ ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคล รวมทั้งความสามารถในการใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับผู้ที่มีสถานะนั้น และใช้ยันบุคคลได้ทั่วไป สถานะของบุคคลจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ก็เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด ไว้เท่านั้น[๒]

สถานะของบุคคล: ที่กฎหมายรับรอง

สถานะของบุคคลตามกฎหมายอาจแยกได้เป็นสถานะของบุคคลในครอบครับและสถานะของบุคคลในประเทศชาติ กฎหมายกำหนดสถานะของบุคคลจำแนกตามที่มา สรุปได้ ดังนี้

๑. การได้สถานะบุคคลโดยการเกิด เมื่อมนุษย์เริ่มลืมตามาดูโลกกฎหมายก็เข้ามาจัดการชีวิตโดยเข้ามาคุ้มครองกำหนดสิทธิและหน้าที่ เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาและมีชีวิตอยู่เป็นการเริ่มมีสภาพบุคคลก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย[๓] เพศของบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดตามธรรมชาติถือเป็นสถานะของบุคคลที่กฎหมายรับรอง เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลระหว่างเพศชายและเพศหญิง เช่น ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยมีหน้าที่รับราชการทหาร[๔] เด็กที่เกิดจากหญิงถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น[๕] เพศหญิงต้องใช้คำนำนามสตรีตามพระราชกฤษฎีการให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ.๒๕๖๐ โดยหญิงยังไม่มีสามีให้ใช้คำว่า นางสาว หญิงมีสามีให้ใช้คำว่า นาง[๖] เป็นต้น

ขณะเดียวกันเมื่อเกิดมาแล้วบุคคลนั้นอาจมีสถานะเป็นพลเมืองหรือประชาชนของประเทศ(สถานะของบุคคลในประเทศชาติ)หรือไม่ และจะได้สัญชาติไทยหรือไม่ต้องพิจารณาตามกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายสัญชาติว่าผู้ที่เกิดมานั้นมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และมีสิทธิได้สัญชาติไทยตามกฎหมายหรือไม่ ผู้มีสัญชาติไทยย่อมตกอยู่ในบังคับตามกฎหมายของประเทศไทย ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายไทย มีสถานะบุคคลเป็นคนไทย ส่วนคนต่างด้าว หมายถึง ผู้ไม่มีสัญชาติไทย อาจได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายไทยน้อยกว่าผู้มีสัญชาติไทย เช่น ไม่มีสิทธิทำบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีสิทธิรับราชการ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิถือครองที่ดินน้อยกว่าผู้มีสัญชาติไทย มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว เป็นต้น

๒. การได้สถานะของบุคคล เพราะเหตุแห่งอายุของบุคคล กฎหมายได้กำหนดสถานะของบุคคลโดยพิจารณาจากความสามารถของบุคคล โดยนำอายุของบุคคลมาเป็นเกณฑ์กำหนดให้เกิดสิทธิหรือจำกัดสิทธิของบุคคล เช่น ผู้เยาว์ หมายถึง ผู้ที่มีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ผู้บรรลุนิติภาวะ หมายถึง ผู้มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์[๗] ผู้มีสัญชาติไทยและมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปถือว่าเป็น ผู้สูงอายุ [๘]เป็นต้น บุคคลที่มีสถานะดังกล่าวจะได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๑๑ ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข การศึกษา การศาสนา การประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม การพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนมิเช่นนั้นแล้วนิติกรรมอาจตกเป็นโมฆียะ[๙] ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์[๑๐]

๓. การได้สถานะของบุคคลโดยถือตามความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ได้แก่ ปู่ย่า ตายาย บิดามารดา ผู้สืบสันดาน(ลูก หลาน เหลน ลื่อ[๑๑]) พี่น้องร่วมบิดามารดา ลุงป้า น้าอา สามีภริยา เป็นต้น กฎหมายหลายฉบับได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลโดยถือเอาสถานะบุคคลในครอบครัวตามความสัมพันธ์ทางเครือญาติ มาเป็นตัวกำหนดสิทธิและหน้าที่หรือจำกัดสิทธิ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙[๑๒] กำหนดให้ทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหรือหลัง โดยนำสถานะของบุคคลในครอบครัวเป็นตัวกำหนดตามความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทห่างทางเครือญาติโดยให้ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื่อ) มีสิทธิได้รับมรดกในลำดับที่หนึ่ง มาตรา ๑๕๖๑ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลบิดา[๑๓] กฎหมายรับรองสิทธิของบุคคลที่มีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาย่อมมีสิทธิใช้นามสกุลของบิดาได้ เป็นต้น สำหรับสถานะของบุคคลทางครอบครัว บางกรณีอาจเป็นเหตุให้ถูกจำกัดสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายได้ เช่น พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๑๓[๑๔] ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ทำการพิจารณาทางปกครองหากผู้ยื่นคำร้องหรือคำขอเป็น คู่สมรส คู่หมั้น บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้อง เป็นต้น เพราะขัดต่อหลักความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่

๔.การได้สถานะของบุคคลด้วยการจดทะเบียน การจดทะเบียนเป็นวิธีการหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเป็นนายทะเบียน ทำหน้าที่จดข้อความลงในรายการจดทะเบียนของทางราชการซึ่งถือเป็นเอกสารมหาชน เพื่อเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิของบุคคล และสามารถใช้ยันต่อบุคคลทั่วไปได้และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เช่น การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม[๑๕] การจดทะเบียนครอบครัว ได้แก่ การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และการจดทะเบียนรับหรือเลิกรับบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ การจดทะเบียนบ้าน[๑๖] ทะเบียนคนเกิด[๑๗] ทะเบียนคนตาย[๑๘]

๕. การได้สถานะของบุคคลตามคำพิพากษา สถานะของบุคคลอาจได้มาหรือถูกเปลี่ยนแปลงไปได้โดยผลของคำพิพากษาของศาล เช่น คนไร้ความสามารถ[๑๙] คนเสมือนไร้ความสามารถ[๒๐] คนสาบสูญ[๒๑] หรือบุคคลล้มละลาย[๒๒] เป็นต้น เมื่อศาลมีคำสั่งย่อมมีผลให้สถานะของบุคคลเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะได้สิทธิหรือถูกจำกัดตัดสิทธิตามกฎหมาย กรณีคนไร้ความสามารถจะกระทำนิติกรรมใดๆไม่ได้หากฝ่าฝืนนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ คนเสมือนไร้ความสามารถจะกระทำนิติกรรมบางอย่างได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน คนสาบสูญตามกฎหมายให้ถือว่าถึงแก่ความตาย ทายาทย่อมจะมีสิทธิจัดการทรัพย์มรดกของผู้สาบสูญได้ สำหรับบุคคลล้มละลายก็จะถูกจำกัดสิทธิในการประกอบธุรกรรมต่างๆ รวมถึงสิทธิในการสมัครเข้าเป็นข้าราชการ[๒๓]พนักงาน หรือกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐ

สถานะของบุคคล: ที่กฎหมายไม่รับรอง

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกล ทำให้มนุษย์สามารถกำเนิดเกิดมาได้โดยการผสมเทียม การโคนนิ่ง การทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ การกำเนิดมามีสองเพศ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาในทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของบุคคลตามมาในหลายเรื่อง เช่น

๑. เด็กที่เกิดจากการผสมเทียมโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน(อุ้มบุญ) ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้คู่สมรสที่ไม่มีบุตรทำสัญญาว่าจ้างหญิงอื่นตั้งครรภ์แทน โดยแพทย์จะนำไข่ของฝ่ายหญิงและเชื้ออสุจิของฝ่ายชายที่เป็นคู่สมรสมาผสมเทียมแล้วนำไปฝังไว้ที่ผนังมดลูกของหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเด็กออกมาแล้วมักจะมีปัญหาเรื่องการแย่งกันเป็นมารดาของบุตร ผิดสัญญาไม่ส่งมอบเด็ก ปัญหาการแจ้งชื่อบิดามารดาของบุตรในรายการทะเบียนคนเกิดและทะเบียนบ้าน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าหญิงผู้ให้กำเนิดบุตรโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นมารดาของบุตร[๒๔] เมื่อเป็นเช่นนี้เวลาลงรายการบิดามารดาในช่องทะเบียนคนเกิดและทะเบียนบ้านตามกฎหมายจะต้องลงรายการชื่อหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์เป็นมารดา ช่องบิดาต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายชายที่เป็นเจ้าของอสุจิหรืออาจลงว่าไม่ปรากฏบิดา จากนั้นคู่สมรสที่ว่าจ้างหญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะมาดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม[๒๕] หรือทำเรื่องขอรับรองบุตร[๒๖] อีกครั้งหนึ่ง กรณีเช่นนี้ มีประเด็นปัญหาที่จะต้องพินิจพิจารณาว่าการทำสัญญาอุ้มบุญเช่นนี้ขัดต่อจริยธรรมหรือไม่ สัญญาเช่นว่านี้เป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ และรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายมาควบคุมการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดมาหรือไม่ หากรัฐ ประชาชน และสังคมยอมรับว่าการรับตั้งครรภ์แทนไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐก็ควรจะมีกฎหมายเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์กติกาในเรื่องนี้เพื่อควบคุมไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือคุณสมบัติของบุคคลที่ต้องการมีบุตรด้วยการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน, กำหนดคุณสมบัติของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติการรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. ... ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ว่าจ้างทำวิจัย[๒๗]

๒. สถานะทางกฎหมายของผู้รักร่วมเพศ สังคมทั่วไปยังไม่ให้การยอมรับผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ดังนั้น กลุ่มผู้ที่รักร่วมเพศจึงมักเรียกร้องให้มีกฎหมายยอมรับสถานะของผู้ที่รักร่วมเพศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและมีสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศทั่วไป เช่น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิทางทรัพย์สินระหว่างสมรส เป็นต้น แต่ในทางกฎหมายถือว่าการสมรสจะมีได้ก็แต่เฉพาะระหว่าง ชายและ หญิงเท่านั้น[๒๘] ซึ่งจะต้องเป็น ชายจริงและ หญิงแท้ ตั้งแต่กำเนิด กฎหมายยังไม่ยอมรับการสมรสระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง หรือ ชายเทียมหญิงเทียม

๓. สถานะของบุคคลที่ได้ทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ ชายหรือหญิงที่ได้ผ่าตัดแปลงเพศแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้ที่เปลี่ยนอวัยวะเพศกลายเป็นชายหรือหญิงตามนัยของกฎหมายได้ ในทางกฎหมายถือว่าเพศชายหรือเพศหญิงถูกกำหนดขึ้นตามธรรมชาติและสามารถสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ปัจจุบันการสมรสระหว่างชายจริงหญิงเทียม หรือหญิงแท้ชายเทียม มีปรากฏให้เห็นในสังคมมากขึ้น แต่สถานะของบุคคลเหล่านี้ในทางกฎหมายยังไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การลงรายการคำนำหน้านามของผู้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศในรายการทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย บัตรประจำตัวประชาชน ก็ยังคงลงรายการโดยถือเพศชายหรือหญิงที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นสำคัญ

สถานะของบุคคล: ในมุมมองของศาล

ก.ศาลรัฐธรรมนูญ วางหลักเกี่ยวกับสถานะของบุคคลไว้ ดังนี้

คำวินิจฉัยที่ ๒๑/๒๕๔๖ กรณีพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๒ บัญญัติให้หญิงมีสามีใช้ชื่อสกุลของสามี เป็นบทบัญญัติที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสตรี เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยได้นำระบบการใช้ชื่อสกุลมาใช้ครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยหญิงมีสามียังคงใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้[๒๙] ต่อมามีการแก้ไขการใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามีในลักษณะเป็นบทบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเท่านั้น[๓๐] ทั้งที่หลักการเดิมหญิงเมื่อทำการสมรสแล้วยังคงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ ตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เมื่อพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมโดยมีเจตนารมณ์ให้หญิงมีสามีไม่มีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของตนต่อไป เป็นการบังคับให้ หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเพียงฝ่ายเดียว เพราะเหตุแห่งสถานะการสมรสของหญิง บทบัญญัติมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามี ทำให้ชายและหญิงมีสิทธิ ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความไม่เสมอภาคกันทางกฎหมายด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล เนื่อง

จากสิทธิการใช้ชื่อสกุลนั้นเป็นสิทธิของบุคคลที่จะแสดงเผ่าพันธุ์ เทือกเถา เหล่ากอของตน และเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้มีการแบ่งแยกว่า เป็นสิทธิของชายหรือของหญิง

คำวินิจฉัยที่ ๔๘/๒๕๔๕ ผู้ร้องเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๗ ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการเก็บภาษีเงินได้ จากสามีและภริยานั้น ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกัน ตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี" เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคลและเพศ กล่าวคือ หากผู้ร้องเป็นโสดและภริยาผู้ร้องเป็นโสดหรือจดทะเบียนหย่ากัน ผู้ร้องและภริยาก็เสียภาษีเงินได้ในส่วนของตนตามบัญชี อัตราภาษี หากผู้ร้องสมรสกับภริยากลับเป็นว่า ผู้ร้องต้องนำเงินได้ของภริยามารวมเป็นเงินได้ของผู้ร้อง เพื่อเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ทำให้ผู้ร้องหรือภริยาต้องเสียภาษีสูงขึ้น โดยเงินได้ของผู้ร้องหรือภริยาไม่มีโอกาสเสียภาษีตามลำดับของบัญชีอัตราภาษีตั้งแต่เริ่มต้น การเสียภาษีตามมาตรานี้ขึ้นอยู่กับสถานะของบุคคลเกี่ยวกับการสมรสและความแตกต่างในเรื่องเพศ เป็นการเลือกปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๘ บัญญัติให้จำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายที่รัฐสภาได้ตราขึ้น เพื่อเป็นการหารายได้สำหรับใช้ในการบริหาร ประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๗ ตรี เป็นการกำหนดวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา และการกำหนดให้สามีและภริยาเสียภาษีต่างจากคนโสด เนื่องจากคนโสดกับสามีและภริยามีเงื่อนไขและสาระสำคัญในการดำรงชีวิตรวมทั้งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่ต่างกัน ประกอบกับเงินได้ของสามีหรือภริยาที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยทั่วไป จะถือเป็นสินสมรส บุคคลในครอบครัวเป็นผู้รับประโยชน์จากเงินได้นั้น มาตรา ๕๗ ตรี บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของรัฐ มีผลใช้บังคับกับสามีและภริยาทั้งหมดที่มีเงินได้พึงประเมินเป็นการทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล[๓๑]

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๖/๒๕๔๕ การที่หน่วยงานใด จะรับบุคคลเข้าทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ย่อมต้อง พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วย กรณีนายศิริมิตร บุญมูล และนางสาวบุญจุติ กลับประสิทธิ์ ซึ่งมีอาชีพทนายความ สมัครสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ หากสอบ คัดเลือกได้ก็จะมีการขอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาต่อไป ซึ่งการรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษามิใช่เพียงแต่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในห้องพิจารณาเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกศาล เช่น เดินเผชิญสืบ สืบพยานที่มาศาลไม่ได้ การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบ คัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงมีมาตรการที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนด เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) คำว่า "มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ" จะใช้ควบคู่กับ มาตรา ๒๖ (๑๑) ที่บัญญัติว่า "เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจ โดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นว่า สมควรรับสมัครได้" บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) เป็นไปตามความจำเป็น และความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) ดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙ ซึ่งไม่กระทบกระเทือน ถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมาย ให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ แต่อย่างใด[๓๒]

ข.ศาลปกครอง วางหลักไว้ว่าสถานะของบุคคลที่ได้มาจากตำแหน่งหรืออาชีพ เช่น ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งงานอื่นใด แม้จะมีผลทำให้มีสิทธิและหน้าที่ตามตำแหน่งเหล่านั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นสถานะของบุคคล เนื่องจากมิใช่คุณสมบัติหรือลักษณะทางกฎหมายที่เป็นฐานสำคัญผูกพันอยู่กับตัวบุคคล ในลักษณะเช่นเดียวกับสถานะในประเทศชาติหรือสถานะในครอบครัว ทั้งอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยการเปลี่ยนตำแหน่งนั้น[๓๓] ได้แก่

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๐๙/๒๕๔๖ ผู้ฟ้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องว่า การที่ผู้ฟ้องยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรงและล้างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งคนงานห้องทดลองทำให้ได้รับความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสถานะของบุคคลตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดที่สูงหรือต่ำกว่าเดิมไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสถานะของบุคคล คำฟ้องนี้จึงไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวกับสถานะของบุคคล เนื่องจากสถานะของบุคคลตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ ในการเป็นบุคคลและสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองนี้เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคล โดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก ทั้งนี้ สถานะของบุคคลจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ก็เฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งสถานะของบุคคลอาจเป็นสถานะของบุคคลในประเทศหรือสถานะในครอบครัว เป็นต้น ส่วนสถานะของบุคคลที่ได้มาจากตำแหน่งหรืออาชีพนั้นไม่ถือว่าเป็นสถานะของบุคคล เนื่องจากมิใช่คุณสมบัติหรือลักษณะทางกฎหมายที่เป็นฐานสำคัญผูกพันอยู่กับตัวบุคคลในลักษณะเดียวกับสถานะในประเทศชาติหรือสถานะในครอบครัว ทั้งอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยการเปลี่ยนตำแหน่งนั้น[๓๔]

สรุป

สถานะของบุคคลเป็นตัวกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนในสังคมหรือประเทศ โดยมีกฎหมายให้การรับรองและคุ้มครองสถานะของบุคคล ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สถานะของบุคคลจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน เนื่องจากสถานะของบุคคลเป็นจุดกำนิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายมากมาย หากบุคคลใดไม่ได้รับการรับรองสถานะตามกฎหมายก็ไม่อาจดำเนินกิจการหรือกระทำการใดๆ ได้เท่าเทียมกับบุคคลที่กฎหมายให้การรับรองสถานะ เช่น คนสัญชาติไทยย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายมากกว่าคนไร้สัญชาติหรือคนต่างด้าว การที่กฎหมายให้การรับรองสถานะบุคคลตั้งแต่เกิดเป็นทารก เด็ก ผู้เยาว์ ผู้บรรลุนิติภาวะ โสด สมรส หย่า สูงอายุ และตาย เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการเกิดซึ่งมีผลต่อการเริ่มสภาพบุคคล การทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ หรือเปลี่ยนแปลงใบหน้า ซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎธรรมชาติที่บุคคลมีมาตั้งแต่เกิด สิ่งเหล่านี้กำลังเข้ามาท้าท้ายนักกฎหมายให้ต้องเร่งรีบปรับปรุงและพัฒนาแนวความคิดทางกฎหมายเพื่อรองรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อหาทางป้องกันและรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อให้สังคมและประเทศชาติดำรงอยู่อย่างสงบสุข



à โดย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ (นบ.,นม.,นบท.,รม.) นิติกร ๘ ว สำนักกฎหมาย สป. ช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

[๑] http://www.royin.go.th/th/ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒

[๒] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๗๓/๒๕๔๕

[๓] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕ สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

[๔] พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗

มาตรา ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

[๕] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๔๖ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

[๖] พระราชกฤษฎีการให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ.๒๕๖๐

ข้อ ๑ สตรีทั่วไปทุกชั้นบรรดาศักดิ์ เว้นแต่

(๑) ผู้ที่เนื่องอยู่ในราชตระกูล

(๒) ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แลราชทินนาม และ

(๓) ผู้ที่จะยกขึ้นกล่าวโดยเฉพาะในข้อต่อไป

(ก) ถ้ายังเป็นผู้ที่ยังไม่มีสามีให้ใช้คำว่า นางสาว เ ป็นคำนำนามเดิมและนามสกุลของตน ตัวอย่างเช่น นางสาวอบ เอกะวัต เป็นต้น

(ข) ถ้าเป็นผู้มีสามีแล้วแต่สามีเป็นผู้ยังไม่มีบรรดาศักดิ์ ให้ใช้คำว่า นาง เป็นคำนำนาม แล้วเอานามสกุลสามีเข้าประกอบ ตัวอย่างเช่น นางม้วน เอกะวัต เป็นต้น

ถ้าสำหรับใช้เรียกหรือเขียนโดยปกติ(ไม่ใช่ราชการ) จะใช้แต่คำว่า นาง นำนามสกุลเท่านั้นก็ได้ ตัวอย่างเช่น

นางเอกะวัต เป็นต้น

(๓) ถ้าสามีเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นต่ำกว่าพระยาลงมา ให้ใช้คำว่า นาง เป็นคำนำนามประกอบราชทินนามของสามี ตัวอย่างเช่น ต่างว่าสามีเป็นหลวงเอกะวัติวิสิฐ เรียกภรรยาว่า นางเอกวัต-วิสิฐ เป็นต้น

[๗] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๙ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์

มาตรา ๒๐ ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๘

[๘] พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

ผู้สูงอายุ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย

[๙] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๒๑ ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

[๑๐] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๒๕ ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์

[๑๑] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑๙ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๘

[๑๒] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๖๒๙ ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ

() ผู้สืบสันดาน

() บิดามารดา

() พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

() พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

() ปู่ ย่า ตา ยาย

() ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕

[๑๓] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๖๑ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา

ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา

[๑๔] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙

มาตรา ๑๓ เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

(๑) เป็นคู่กรณีเอง

(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี

(๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

ฯลฯ

[๑๕] พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒

มาตรา ๕ เพื่อคุ้มครองเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

[๑๖] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

ทะเบียนบ้าน หมายความว่า ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้าน และรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน

[๑๗] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

ทะเบียนคนเกิด หมายความว่า ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนเกิด

[๑๘] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

ทะเบียนคนตาย หมายความว่า ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนตาย

[๑๙] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๒๘ บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

[๒๐] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๓๒ บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘ ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็น

คนเสมือนไร้ความสามารถก็ได

ฯลฯ

[๒๑] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๖๑ ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

() นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

() นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป

() นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน () หรือ () ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

[๒๒] พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

มาตรา ๖๑ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย

ฯลฯ

[๒๓] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕

มาตรา ๓๐ ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้

ฯลฯ

(๙)ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ฯลฯ

[๒๔] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๔๖ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

[๒๕] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๙๘/๒๗๑๒๓ การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

[๒๖] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๔๗ เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

[๒๗] ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายงานการวิจัยเรื่อง การผสมเทียมโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และคณะ ใน http://www.prachatai.com/

[๒๘] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๔๔๘ การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

[๒๙] พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๖ หญิงได้ทำงานสมรสมีสามีแล้วให้ใช้ชื่อสกุลของสามี แลคงใช้ชื่อตัวแลชื่อสกุลเดิมของตนได้

[๓๐] พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช ๒๔๘๔

มาตรา ๑๓ ว่า "หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี และพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๒

[๓๑] www.kodmhai.com/vinit/2545/48-2.html - 34k

[๓๒] www.ams.cmu.ac.th

[๓๓] คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๗๓/๒๕๔๕

[๓๔] http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม