'อุ้มบุญไทยๆ' ไม่ใช่แค่ให้เช่ามดลูก
โดย : นิภาพร ทับหุ่น
เป็นข่าวให้คนมีลูกยากดีใจได้สักพักใหญ่แล้ว รอก็แต่สภาตีตราเป็นกฏหมาย แต่ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ "อุ้มบุญแบบไทยๆ" ยังมีสถานการณ์วัดใจตามมาอีกเยอ
“ต้องการอุ้มบุญให้ผู้ที่มีลูกยาก และต้องการมีลูกค่ะ ตอนนี้อายุ 24 ปี มีลูก 2 คนค่ะ เคยอุ้มบุญมาแล้ว 1 ครั้งค่ะ เป็นหม้ายค่ะ ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สนใจอยากทราบรายละเอียด โทร. 081531xxxx” ลงชื่อ....(06/10/09 20:50)
“ดิฉันสนใจคนที่รับจ้างอุ้มบุญเช่นกัน เคยทำ ICSI มาแล้ว 2 ครั้ง ไม่ประสบความสำเร็จเพราะตัวอ่อนไม่ฝังตัว ทั้งๆ ที่ไข่ก็ดีพอใช้ ผนังมดลูกไม่ได้มีปัญหา ต้องการคนอุ้มบุญที่ไม่ทำงาน อยู่กับบ้านอย่างเดียว เคยมีบุตรมาแล้ว 1 คน อายุบุตรไม่เกิน 2 ปี อายุผู้รับอุ้มบุญไม่เกิน 24-28 ปี ไม่เน้นสวย แต่ต้องจิตใจดี ขอมีการศึกษานิดนึง ขั้นต่ำ ปวช.-ปวส. ขั้นสูงแค่ปริญญาตรี ขอดูรูปถ่ายและประวัติ ค่าจ้าง เหตุผลที่รับอุ้มบุญให้ หากจะรับจ้างจริงมีข้อแม้ต้องตรวจสุขภาพล่วงหน้าก่อนอุ้มบุญ 3 เดือน และใน 3 เดือนก่อนวางตัวอ่อนจนคลอดต้องมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านดิฉันตลอดจนคลอด สนใจติดต่อ ...@hotmail.com ดิฉันอยู่ที่....ค่ะ” ลงชื่อ....(18/08/09 04:50)
“ตอนนี้ฉันท้องได้เดือนกว่า ไม่อยากทำแท้ง หากคัยอยากมีลูกเชิญติดต่อมาได้ที่ 089-896xxxx รีบๆ นะคะ ก่อนที่ฉันจะเอาเด็กออก” ลงชื่อ.....(06/02/10 22:59)
บางที บางคนก็คงอยากจะโทษสวรรค์บ้างเหมือนกันที่กลั่นแกล้งให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ ขึ้นบนโลกมนุษย์ เพราะเมื่อคนหนึ่งอยากมีลูกสุดใจ แต่สวรรค์ใจร้ายไม่ยอมส่งมาให้ หรือส่งพลาดไปอยู่ในท้องใครก็ไม่รู้ที่ยังไม่พร้อมจะยอมเป็น “แม่”
ถ้าไม่โทษสวรรค์ไปเลย ใครกันล่ะที่ผิด...
เรื่องจริง ผู้หญิงอยากเป็น “แม่”
“ให้เขาไปตก 2 แสนบาท มันก็เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร แต่ทำไมเขา....”
น้ำตาที่คลออยู่ในตาเริ่มปริ่มออกมา พร้อมกับสะอื้นเสียงที่ขาดห้วงไปในลำคอ ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของ เอ (นามสมมติ) ได้ดีไปกว่าตัวเธอเอง
ความพยายามที่มีมานานกว่า 10 ปี กับการจะมีลูกให้ได้สักคนนั้น เป็นความหวังที่เอและสามีเฝ้าฝันมาตลอด เธอเล่าว่า แต่งงานมานานแต่ยังไม่มีลูก จึงไปปรึกษาคุณหมอในคลินิกประจำจังหวัด(ขอสงวนชื่อจังหวัด) แต่เมื่อได้รับคำแนะนำว่าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ น่าจะช่วยเหลือได้ดีกว่า เอและสามีจึงเดินทางมาหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีแพทย์ ในโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง จนแพทย์วินิจฉัยว่า เอไม่สามารถมีลูกเองได้ เพราะมดลูกของเธอมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
ความหวังดูเหมือนจะดับสลาย แต่เพราะความเห็นใจนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เธอและสามีใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Reproductive Technology) ซึ่งวงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่าใช้แก้ปัญหาให้กับคู่สมรสที่มีบุตรยากได้ ปัจจุบันมีหลายวิธี คือ การสร้างเด็กหลอดแก้ว (IVF : in Vitro Fertilization), การทำกิฟท์ (GIFT : Gamete Intra Fallopian Transfer), การทำซิฟท์ (ZIFT : Zygote Intra Fallopian Transfer), การทำอิ๊กซี่ (ICSI : Intra Cytoplasmic Sperm Injection) และการตั้งครรภ์แทน หรือ การอุ้มบุญ (Surrogacy)
สำหรับกรณีของเอ สูติ-นรีแพทย์ แนะนำให้ใช้วิธีการหลังสุด
“ตอนแรกหาญาติมาได้ 3 คน มาตรวจกับคุณหมอ แต่ปรากฏว่ามดลูกของญาติ 3 คนนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร หมอกลัวไม่ติดจึงไม่อนุญาต หลังจากนั้นก็ติดต่อกับผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ 40 ปี เป็นคนรู้จักกัน เขารู้ว่าเรามีปัญหาจึงเสนอตัวมาอุ้มบุญให้ คือเขาโปรโมทว่าตัวเองมดลูกดี เราจึงตกลงทำโดยใช้ไข่ของเรากับอสุจิของสามี และมีค่าจ้างให้เขาจำนวนหนึ่ง จ่ายเป็นรายเดือน และพอคลอดลูกแล้วเราก็จะให้อีกเป็นก้อนในตอนหลัง”
ความฝันทำท่าจะกลายเป็นความจริงเมื่อหญิงคนนั้นเต็มใจยอมเป็น “แม่อุ้มบุญ” ให้ นัยน์ตาแสนเศร้าตอนแรกจึงเปล่งประกายขึ้นด้วยความหวัง แต่แล้ว...
“ตอนแรกๆ เขาปฏิบัติตัวดีมาก น้ำหนักขึ้นเป็นปกติดี จนประมาณ 4 เดือน เขาเริ่มเล่นแง่ บอกให้เราไปกู้เงินมาให้ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินจะทำได้ เราจึงปฏิเสธไป หลังจากนั้นเขาก็ไม่เหมือนเดิม ทำตัวเหมือนไม่ใช่คนท้อง จะลุก จะเดิน จะนั่ง ไม่ระวังเลย พอเรากังวลเขาก็บอกว่า เขาเคยท้องมาก่อน ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมาก พอเราขอจับท้อง เขาก็ไม่ยอมให้จับ ถามว่าลูกดิ้นหรือเปล่าเขาก็นิ่งเฉย หลังจากนั้นน้ำหนักก็ไม่ขึ้นอีกเลย ซึ่งมันไม่ปกติ
“เขาทำอย่างนี้เหมือนกับการจับเด็กในท้องซึ่งก็คือลูกของเราเป็นตัวประกัน ทั้งๆ ที่เราก็ต้องคอยดูแลและเอาใจใส่เขาทุกอย่าง ต้องซื้ออาหารดีๆ ให้กิน ซื้อชุดคลุมท้องให้ และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็อยู่นอกเหนือต่างหากจากเงินรายเดือนที่เราต้องให้กับเขา”
ความกลัวเกิดขึ้นในจิตใจของเอและสามีตลอดเวลา ด้วยกังวลว่าลูกในท้องของแม่อุ้มบุญอาจจะไม่ปลอดภัย ทั้งคู่จึงตัดสินใจไปปรึกษาญาติที่เป็นทนายความเพื่อขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ในที่สุดก็ทำเป็นหนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วหญิงคนนั้นจึงยอมยกลูกให้กับเอและสามีโดยดุษฎี
“นี่หรือลูกของเรา” เอน้ำตาไหลเมื่อเล่าถึงวินาทีแรกที่ได้เห็นหน้าลูกและรู้ว่าลูกของเธอปลอดภัย
วันนี้เอกลายเป็น “แม่” และมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอย่างที่หวังไว้แล้ว
ไม่อยากเป็น “แม่” แค่อยาก “ท้อง”
มองในมุมกลับ หลายคนคงไม่อยากเป็นแม่อุ้มบุญที่โดนฟ้อง หรือถูกครหาว่า “ให้เช่ามดลูก” เพราะสำหรับบางคนแล้ว การได้ดูแลชีวิตน้อยๆ ในท้อง ถือเป็นความสุขที่บรรยายความรู้สึกไม่ได้
“บอกตามตรงว่าอยากไถ่บาป เพราะตอนท้องลูกของตัวเองรู้ตัวช้า รู้ตอนอายุครรภ์ 5 เดือนแล้ว ซึ่งก่อนนั้นไม่ได้ดูแลเลย จริงๆ ก็อยากมีอีกสักคน แต่แฟนบอกว่า คนเดียวก็เลี้ยงไม่ไหวแล้ว ถ้าพูดกันจริงๆ ผู้หญิงเราอยากท้องและได้ดูแลเขาอย่างดีที่สุด แต่จะกลับไปแก้ตัวตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว เลยอยากรับอุ้มบุญและจะพยายามทำให้ดีที่สุด” ยี่หวา (นามสมมติ) สาวเมืองอุบลราชธานี เปิดเผยมูลเหตุที่เธอรับอุ้มบุญแทนสามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่รู้จักกันผ่านโลกออนไลน์
ยี่หวา มีลูกชาย 1 คน เมื่อถามว่าถ้าเด็กในท้องของเธอเป็นผู้หญิง จะเปลี่ยนใจไม่ยกเด็กให้พ่อแม่ที่แท้จริงของเขาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีกรณีแม่อุ้มบุญเกิดความผูกพันกับเด็กจนไม่อยากยกเด็กให้แม่ที่แท้จริง
“ต้องให้อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ใช่ลูกเรา เราแค่ให้โอกาสเขาได้อยู่ในท้อง มันเหมือนกับเราให้โอกาสเขาเกิดมา ไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับเรานี่คือการทำบุญที่ใหญ่หลวง และเราก็เชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะต้องเป็นคนดีคนหนึ่ง เพราะพ่อแม่เขาเป็นคนดีมากๆ แต่น้องไปเกิดกับเขาไม่ได้ เราเองก็ไม่ได้จะว่าตัวเองดี แต่เราเชื่อว่าเราสามารถดูแลเขาได้ดี อาจจะห่วงบ้างในช่วงแรก แต่ไม่หวงแน่นอน”
สำหรับค่าตอบแทน ยี่หวาพยายามยืนยันว่า เธอไม่ได้ทำการอุ้มบุญเพื่อการค้ากำไร หรือแสวงหาผลประโยชน์เกินตัว ตัวเลขของค่าตอบแทนจึงไม่สูงมาก
“หลักแสนค่ะ แต่นี่ไม่ใช่แพงที่สุดนะคะ เคยมีคนเสนอให้ 4 แสน แต่เขาดุไปหน่อย ให้เราไปอยู่กับเขาตลอดด้วย เราก็ไม่เอา พอได้คุยกับพี่คนนี้(ที่จ้างอุ้มบุญ) ได้เจอกัน เรารู้สึกถูกชะตา เป็นความรู้สึกที่แปลกกว่าคนอื่น ทีนี้ใครมาให้เท่าไรก็ไม่สนใจแล้ว เราซื้อสลากออมสินไว้ด้วยนะ เคยคิดว่าถ้าถูกรางวัลสลากออมสินก็ยังจะรับอุ้มบุญพี่เขา ไม่รู้สิอาจจะเป็นเวรกรรมที่เราทำร่วมกันมาก็ได้” ยี่หวา สรุปชะตาชีวิต
ต่างจาก ฟ้า (นามสมมติ) ที่ยอมรับว่า อุ้มบุญให้ชาวบ้านก็เพราะต้องการเงิน
“ทั้งหมด 350,000 บาท ตอนนี้รอดูอยู่เหมือนกันว่าข้อเสนอใครจะดีกว่า ขอดูข้อเสนอก่อนว่าเป็นไง ถ้าใครให้ดี เราโอเคก็จบ”
ง่ายๆ แค่นี้กับอุ้มท้องลูกของใครสักคนเป็นเวลา 9 เดือนสำหรับฟ้า จากข้อมูลที่เธอเขียนไว้บนกระทู้หน้าเวบไซต์แห่งหนึ่ง มีการระบุราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นระยะๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ราวกับเคยผ่านการอุ้มบุญมาแล้วนับไม่ถ้วน
“ไม่เคยทำค่ะ แค่คิดว่าจะเอาเงินไว้เป็นทุนการศึกษาของลูก เพราะเราอยู่บ้านเฉยๆ”
แม้จะปฏิเสธ แต่คำตอบของเธอก็สวนทางกับความเป็นจริง เพราะเมื่อเราพยายามเลียบเคียงถามว่า จะให้ลูกที่เกิดมาจดทะเบียนเป็นลูกที่แท้จริงของคนจ้างได้หรือไม่
“กฎหมายให้แม่อุ้มบุญเป็นแม่แท้จริง แต่คนไทยน่ะ พูดกันง่ายๆ ก็ยัดเงินให้พยาบาลไปซะ ถ้ามีพวกพ้องเป็นพยาบาลมันก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ในกรุงเทพฯ อาจจะยากหน่อย แต่มาต่างจังหวัดสิ สบายเลย จริงๆ หมอเขาก็มีจรรยาบรรณของเขาแหละ แต่บางที...มันคุยกันได้”
คำตอบของว่าที่แม่อุ้มบุญคนนี้อาจกระทบกับความเชื่อมั่นในวงการแพทย์อยู่บ้าง แต่เธอยืนยันว่านี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
แล้วจะแปลกอะไรถ้าแม่คนหนึ่งจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์ของชีวิต นั่นก็คือ "ลูก"
.....................
รอกฎหมาย อึดใจเดียว
คดี Baby M เด็กอุ้มบุญที่เกิดในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ.1986 แล้วมีการฟ้องศาลเรียกร้องสิทธิของความเป็นแม่ที่แท้จริง เป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิกที่โด่งดังไปทั่วโลก จนต่อมาอเมริกาต้องออกกฎหมายให้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ ได้รับการจดทะเบียนเป็นลูกที่แท้จริงของพ่อ-แม่ เจ้าของตัวอ่อนได้
ธัญญาเรศ เองตระกูล (รามณรงค์) ดาราสาวที่ใช้บริการ “อุ้มบุญ” จากพี่สาวชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองลุงแซม ก็ใช้กฎหมายนั้นจดทะเบียนบุตรที่เกิดมาเป็นลูกที่แท้จริงของตัวเองเช่นกัน
ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงทำให้คู่สมรสหลายคนเกิดความกังวล เพราะไม่อยากให้เลือดเนื้อเชื้อไขมีสถานะเป็นได้แค่ “บุตรบุญธรรม”
ปี พ.ศ.2543 มีกรณีของสามี-ภรรยา ข้าราชการมหาวิทยาลัยคู่หนึ่ง จดทะเบียนลูกอุ้มบุญเป็นบุตรแท้ แต่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล และสิทธิอื่นๆ ได้ จนเป็นเรื่องราวที่กระตุ้นให้เกิดการพิจารณากฎหมายการอุ้มบุญ
เวลาล่วงไป 10 ปี วันนี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....หรือ "กฎหมายอุ้มบุญ" ที่หลายคนรอคอยผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา และประกาศใช้ในรูปของกฎหมาย
เนื้อหาสาระค่อนข้างกว้าง แต่หลักใหญ่ใจความอยู่ที่การให้สิทธิพ่อแม่ที่ประสงค์จะมีบุตรเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเดิมไม่รองรับ ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแพทย์ผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติตามที่แพทยสภากำหนด คู่สมรสที่เข้ารับบริการให้มีการตั้งครรภ์แทนก็ต้องจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรณีหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนก็ต้องไม่ใช่สาวโสดที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาความผูกพัน กฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีบุตรมาแล้ว และต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย
และกฎหมายฉบับนี้พิเศษกว่าฉบับใดๆ เพราะมีผลย้อนหลัง พ่อแม่ที่ใช้บริการอุ้มบุญมาก่อนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอเปลี่ยนสถานะของบุตรบุญธรรมเป็นบุตรแท้ตามกฎหมายได้
ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ในงานเสวนาเรื่อง “360 องศา กับปัญหาแม่อุ้มบุญ” ที่จัดโดย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ร่างกฎหมายอุ้มบุญฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้คู่สมรสที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีสถานะการเป็นบิดามารดาของเด็กได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการสร้างหลักประกันให้กับเด็ก พร้อมกันนี้ยังเป็นการควบคุมไม่ให้มีการนำอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่เหลือไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับแม่อุ้มบุญ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำในรูปของการว่าจ้าง หรือประโยชน์ทางการค้า ซึ่งจะมากน้อยแค่ไหน กฎหมายระบุให้แพทยสภาเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์
ด้าน นพ.สมชาย สุวจนกรณ์ สูติ-นรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพระรามเก้า แสดงความคิดเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมอีกหลายประเด็น แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายอุ้มบุญใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ได้จริงก็จะเป็นประโยชน์กับคนไข้ อย่างน้อยในแง่ของความรู้สึกความเป็นพ่อแม่ที่จะได้เห็นใบแจ้งเกิดของลูกระบุว่า พวกเขาเป็นพ่อและแม่ที่แท้จริง มิใช่เพียงพ่อแม่บุญธรรมเหมือนกฎหมายปัจจุบันระบุไว้ ทั้งนี้คำว่า พ่อแม่บุญธรรม ถือเป็นสิ่งกระทบกับจิตใจ สร้างความสับสน และยิ่งเป็นการซ้ำเติมกับพวกเขาซึ่งมีลูกยากมากขึ้นไปอีก”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น