Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

GIFT เด็กสวรรค์

แม่อุ้มบุญเจ้าปัญหา

แต่หากฝ่ายหญิงไร้รังไข่ในตัวหรือเจอปัญหารังไข่ไม่ทำงานอาจเพราะหมดระดูก่อนวัยอันควร ก็อาจต้องขอบริจาคไข่จากบุคคลอื่น ซึ่งไม่ง่ายเหมือนอสุจิ เพราะคนที่บริจาคไข่ต้องมาฉีดฮอร์โมนกระตุ้น เรียกว่าเจ็บตัวเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

แต่เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด จึงมีการกำหนดว่าการบริจาคไข่จะต้องไปขอจากญาติที่มีลูกแล้ว เพื่อป้องกันการแย่งเป็นแม่ของลูกในภายหลัง โดยวันที่เจาะไข่ผสมกับอสุจิเสร็จและเป็นตัวอ่อนแล้ว ก็จะใส่กลับเข้ามดลูกของภรรยา และคลอดลูกออกมาด้วยตัวเอง ดูเหมือนว่าปัญหาจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรณีที่ฝ่ายหญิงมีรังไข่ แต่ไม่มีมดลูก พออยากมีลูกก็อาศัยการอุ้มบุญแทน

“การอุ้มบุญ คือ การไปฝากคนอื่นตั้งครรภ์แทน เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นรังไข่ พอไข่ออกมาผสมกับอสุจิตัวอ่อนนั้นก็ไปฝากมดลูกคนอื่น พอคลอดปัญหาตามกฏหมายจะเกิดทันที เพราะกฎหมายเมืองไทยเขียนไว้ว่าหญิงที่คลอดเป็นมารดา แต่เด็กนั้นถ้าเรามาตรวจดีเอ็นเอ พ่อแม่ที่แท้จริงคือคนที่เป็นเจ้าของอสุจิและไข่ ตอนนี้กำลังมีการร่างกฎหมายใหม่ที่จะให้มีการยอมรับเรื่องพันธุกรรมเข้าไว้ด้วย” อาจารย์หมอให้ข้อมูลและบอกว่าในกลุ่มไอวีเอฟ การทำอิ๊กซี่กับเทเซจะเยอะประมาณ 30-40% ขณะที่กลุ่มที่ใช้อสุจิหรือไข่บริจาคกับการตั้งครรภ์แทนจะมีน้อย

ตัวอ่อนที่เหลือไปไหน?

หลังจากได้ลูกสมใจแล้วตัวอ่อนที่เหลือล่ะจะไปอยู่ไหน เพราะโดยปกติแล้วตอนกระตุ้นไข่ ไข่จะได้ออกมาเยอะมาก และเมื่อผสมเป็นตัวอ่อนแล้วจะใช้ใส่กลับไม่เกิน 3 ใบ

“ตัวอ่อนที่เหลือเราจะแช่แข็งไว้ในไนโตรเจนเหลว –196 องศาเซลเซียส” อาจารย์หมอให้คำตอบ และว่าสามารถเก็บไว้ได้นาน 5 ปี โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องการฝังตัว ถ้าต้องการมาใช้ต่อก็แค่นำมาอุ่นแล้วเอามาใส่ แต่หากเก็บไว้นานกว่านี้ คุณภาพก็อาจจะต่ำลง เพราะเก็บไว้นาน ๆ พออุ่นกลับมาไม่ใช่ว่าจะรอดได้ทุกตัว

แล้วหากไม่มีเจ้าของมาติดต่อล่ะจะทำอย่างไร ทางออกที่เป็นไปได้ก็คือโรงพยาบาลจะกำหนดให้เจ้าของตัวอ่อนต้องมาติดต่อทุกปี เพราะการแช่แข็งตัวอ่อนมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะต้องเซ็นใบยินยอมยืนยันการติดต่อ โดยหากขาดการติดต่อก็จะยินดียกตัวอ่อนให้ทำวิจัย แต่คุณหมอบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่มีเจ้าของมาสนใจ แพทย์ก็จะเก็บตัวอ่อนไปเรื่อย ๆ ไม่ทำลาย

เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ภาคต่อ

มาถึงตรงนี้แล้ว คงคลายใจให้คู่สมรสบางคู่ได้บ้าง แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ ยังมีเทคโนโลยีมาแรงที่หลายฝ่ายกำลังจับตานั่นคือ “การวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว” หรือ “พีจีดี” (Pre-implantation genetic diagnosis : PGD)

“พ่อแม่บางคนมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ ในปัจจุบันตั้งครรภ์ก่อนแล้วถึงจะเจาะเอาน้ำคร่ำ หรือเลือดจากสายรกมาตรวจ ถ้าผิดปกติก็ทำแท้งเอาเด็กออก ซึ่งส่งผลต่อจิตใจคู่สมรสอย่างมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะช่วยวินิจฉัยก่อนตั้งครรภ์ก่อนตัวอ่อนจะฝังตัว คือ พอตัวอ่อนเลี้ยงมาได้สองวันในระยะ 8 เซลล์ เราก็จะสะกิดที่เปลือกของตัวอ่อนให้เป็นรู แล้วเอาเซลล์ออกมาสัก 2-3 เซลล์ออกมาศึกษาก่อนว่าผิดปกติไหม” อาจารย์หมอบอกว่าถ้าตัวอ่อนผิดปกติหมายถึงเป็นโรคก็ทิ้งไป แต่ถ้าปกติก็ใส่กลับโพรงมดลูก โอกาสที่เด็กจะเกิดมาพิการก็จะลดลง โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมียที่บ้านเราเป็นกันเยอะมาก

นอกจากนี้ “โคลนนิง” (Cloning) ก็เป็นอีกเทคโนโลยีมองข้ามไม่ได้แม้ข้อสรุปจะยังไม่ปรากฏว่า “ควรหรือไม่ควรแตะ” ก็ตาม โคลนนิงแยกได้เป็นสองอย่าง ได้แก่

การโคลนนิงเพื่อการเจริญพันธุ์ คือการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาใหม่ ด้วยการเอาเข็มไปดูดเอานิวเคลียสออกมาจากไข่ และเอาเซลล์จากใครก็ตาม เอานิวเคลียสของเซลล์นั้นใส่กลับเข้ามา แล้วเอาไปผ่านสารให้มันหลอมรวมกันแล้วเลี้ยงต่อให้แบ่งตัว จากนั้นก็ใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก

ขณะที่การโคลนนิงเพื่อการรักษา จะเป็นการสร้างตัวอ่อนขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ด้วยการใช้สารบางอย่างไปควบคุมให้สเต็มเซลล์ไปเปลี่ยนเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อตามที่ต้องการเพื่อเอาไปใช้ทดแทนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะผิดปกติของคนนั้น ๆ

อาจารย์หมอมองว่าในปัจจุบันการโคลนนิงเพื่อเจริญพันธุ์ไม่สมควรทำเพราะยังไม่รู้ว่าตัวอ่อนที่สร้างมาใหม่จะมีความพิการ และมีความผิดปกติได้มากแค่ไหน นอกจากนี้การสร้างมนุษย์ขึ้นมาใหม่โดยไม่ผ่านการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ ไม่เป็นยอมรับทางจริยธรรม เพราะแม้แต่แกะดอลลี่เอง ก็มีโรครุมเร้าตามมามากมายจนเสียชีวิตในที่สุด

แต่การโคลนเพื่อบำบัดถือเป็นความหวังที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคร้ายต่าง ๆ ให้หายได้อาทิ ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจตายและต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งหาไม่ได้ง่าย ๆ ก็อาจใช้วิธีพัฒนาเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจากสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนได้

โคลนนิงดีหรือไม่...?

คุณหมอเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี น่าจะได้เห็นความชัดเจนในการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรค แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถบังคับให้สเต็มเซลล์เติบโตไปเป็นได้ทุกอวัยวะก็ตาม แต่ในบางโรคก็อาจมีฝันที่เป็นจริงได้

“มีหลายคนไม่สบายใจในแง่ของจริยธรรม คิดว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการทำลายตัวอ่อนซึ่งมันก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปแต่การโคลนนิงเพื่อบำบัด ผมว่าน่าจะเป็นการยอมรับกันได้ง่ายกว่า”

นอกจากนี้ อาจารย์หมอยังบอกอีกว่าการโคลนนิงเพื่อการเจริญพันธุ์ในแง่ของผู้มีบุตรยากก็อาจเป็นจริงได้ หากวิธีการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับ “บางคนฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่แล้ว แต่ก็ยังได้ไข่น้อยมาก พอมาผสมกับอสุจิก็ได้ตัวอ่อนใบเดียว โอกาสตั้งครรภ์จะต่ำ แต่ถ้าเราเลี้ยงตัวอ่อนไปจนถึง 4 เซลล์ แล้วเอาแต่ละเซลล์มาทำโคลนนิง หาไข่มาแล้วดึงนิวเคลียสออกเอานิวเคลียสของเซลล์ใส่เข้าไป ก็จะได้ตัวอ่อน 4 ใบ นั่นจะเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ของเขาได้ ตรงนี้น่าจะเป็นวิธีที่เราอาจจะยอมรับได้”

สาเหตุก็เพราะวิธีนี้ไม่ได้สร้างตัวอ่อนขึ้นมาจากเซลล์ตัวเต็มวัย (adult cell) เป็นการเอาเซลล์จากตัวอ่อนมาขยายให้เป็นตัวอ่อนในจำนวนมากขึ้น แต่ตรงนี้ยังค่อนข้างซับซ้อนอยู่ เพราะในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่แน่ใจว่าตัวอ่อนที่ได้มาจะปกติ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอสมบูรณ์ ฝากข้อแนะนำให้กับคู่สมรสสูงวัยที่อยากมีบุตรว่าควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนอายุ 40 ปี เพราะหากช้ากว่านี้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นเรื่องยากมาก นอกจากนี้ ยิ่งอายุมากคุณภาพของไข่ก็จะไม่ดีตามไปด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ปริมาณฮอร์โมนที่ใช้ และการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน โดยหากดำเนินการในโรงพยาบาลรัฐก็จะตกราว 5-6 หมื่นกว่า ส่วนเอกชนไม่ต่ำกว่าแสนต่อครั้ง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่กระตุ้นไข่ จนถึงขั้นใส่ตัวอ่อน แต่หากมีตัวอ่อนแช่แข็งอยู่แล้วครั้งต่อไปก็จะถูกลง

ได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย อยากมีก็รีบมีเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะแม้เทคโนโลยีสมัยนี้จะมหัศจรรย์จนยากจะทำใจให้เชื่อได้แต่ถึงเวลานั้นคุณอาจต้องแลกความสุขที่หายไปกับเงินก้อนโตที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตก็เป็นได้


Scitech
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 48

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม