Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

Click Like ถ้าชอบบล๊อกไซต์นี้

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อุ้มบุญ อุ้มบุญ อุ้มบุญ อุ้มบุญ

อุ้มบุญคืออะไร
ในความหมายของคนทั่วไป อุ้มบุญ คือการให้คนอื่นตั้งท้องแทน เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว มีความหมายลึกซึ้งไปอีก อุ้มบุญมี 2 แบบ คือ อุ้มบุญแท้ ( Full surrogacy )กับอุ้มบุญเทียม ( Partial surrogacy) ดังนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อน
อุ้มบุญ (surrogacy) หมายความว่า มีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาเพิ่ม เพื่อทำหน้าที่อุ้มท้อง แต่จะใช้ไข่ของใครกับเชื้อของคุณพ่อ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น กรณีที่ใช้ไข่ของผู้หญิงที่อุ้มบุญ (surrogate mother) จะเรียกว่า อุ้มบุญเทียม ( Partial surrogacy) เช่น คุณแม่เป็นมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองได้ ต้องอาศัยไข่ของคนอื่น ซึ่งก็คือ ไข่ของผู้หญิงที่มาอุ้มบุญ นั่นเอง การอุ้มบุญเช่นนี้ เรียกว่า ผู้ที่รับจ้าง ทำหน้าที่อุ้มบุญ เพียงบางส่วน (partial function) ไม่เต็มที่ ( not full function of surrogacy) ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ ใช้ไข่ของผู้เป็นแม่แท้ๆ ก็เรียก อุ้มบุญแท้( Full surrogacy ) เราจะทำแบบนี้ในกรณีที่ มดลูกของผู้หญิงมีปัญหาหรือว่าไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม แต่รังไข่ยังใช้งานได้ ยังสามารถผลิตไข่ได้ เช่น คนไข้ถูกตัดมดลูกหรืออย่างคนไข้รายหนึ่งซึ่งมีอาการแพ้ยาแก้ปวดมาก จะอาเจียนตลอดระยะเวลาที่ทำการหยอดตัวอ่อน จนเกิดกลัวการหยอดตัวอ่อน ไม่กล้าหยอดและการหยอดครั้งแรกก็ล้มเหลว เค้าก็ให้หลานสาวซึ่งเคยผ่านการมีสามีมาแล้วช่วยตั้งครรภ์แทน โดยทำในลักษณะของการว่าจ้างแบบช่วยเหลือกัน ถึงเวลาต้องมาหยอดตัวอ่อน หลานสาวก็มา พอท้องคลอดเรียบร้อยก็จบ ลักษณะนี้เรียกว่า อุ้มบุญแท้ ( Full surrogacy )

ทำไมต้องอุ้มบุญ
ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่แม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่มดลูก บางคนมดลูกเต็มไปด้วยเนื้องอก อย่างรายหนึ่งมีลูกยากเพราะมดลูกไม่ดี แต่อยากมีลูก แล้วก็เป็นคนฐานะปานกลาง มีทุนทรัพย์จำกัด เมื่อมาเจาะไข่ ผสมเรียบร้อยปรากฏว่าได้ตัวอ่อน 3 ตัว การหยอดตัวอ่อนแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นแสน ดังนั้นเท่ากับว่า หยอดแล้วควรจะมีโอกาสสำเร็จให้มากที่สุด ทีนี้ด้วยความที่คนไข้มดลูกไม่ดีเลยทำให้มีโอกาสล้มเหลวสูง กรณีแบบนี้ถ้ามีใครที่เค้าไว้ใจหรือมีสายเลือดเดียวกันที่สามารถจะตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีปัญหาจะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น คนไข้จึงให้น้องสาวซึ่งเคยมีลูกมาแล้ว 3 คน เป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ปรากฏว่า สำเร็จเรียบร้อย มีความสุขดี คือบางครั้งมันก็จำเป็น อย่างกรณีนี้เหมือนกับทั้งชีวิต มีเงินก้อนนี้ก้อนเดียว ใช้ไปแล้วหมดแน่ ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีครั้งที่สอง การเลือกคนที่มีมดลูกดีๆ มาตั้งครรภ์แทนก็จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า ส่วนใหญ่ที่มาทำแบบนี้จะมีอัตราการครรภ์ อยู่ที่ประมาณ 60 %

อุ้มนานแค่ไหนกว่าจะได้ลูก
ถ้าพูดถึงเวลาตั้งครรภ์ก็ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ช่วงเตรียมก่อนการตั้งครรภ์จะไม่แน่นอน ส่วนมากตัวอ่อนที่ทำไว้เราจะแช่แข็งไว้ก่อน เมื่อพร้อมจึงจะหยอด พอหยอดปุ๊บก็เป็นวันที่ 1 หยอดออสโมซิสก็เป็นวันที่ 5 แล้วก็นับไปถึงวันที่ 14 ก็เจาะเลือดได้เลย ถ้าผลปรากฏว่าไม่ท้องก็หยอดใหม่ บางคนก็นิยมการหยอดแบบออสโมซิส บางคนนิยมแบบเจาะท้องแล้วใส่ตัวอ่อนเข้าทางปีกมดลูก แล้วแต่ โดยส่วนตัวผมเองคิดว่าพยายามทำให้เป็นธรรมชาติที่สุดจะดี ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็รอเวลาคลอด ซึ่งการคลอดนั้นเราจะผ่าหมดแทบทุกราย ไม่ควรมีการคลอดเอง เหตุผลคือ อันตราย และคลอดเองเจ็บกว่า ยกเว้นกรณีที่แม่ไม่สามารถผ่าได้ นั่นก็ต้องดูกันเป็นกรณีไป

กรณีตัวอย่าง : อุ้มบุญแบบเลือกเพศ
เคยมีรายหนึ่งเป็นชาวไต้หวัน มีฐานะร่ำรวยมาก ต้องการทายาทสืบสกุลเป็นผู้ชายก็จัดแจงไปหาสาวจีนฮ่อมา 2 คน เพื่อคัดเลือกว่าใครเหมาะสม วิธีการคัดเลือกคือตรวจอัลตราซาวนด์ดู คนที่มีความเหมาะสมน่าจะอายุอยู่ในราว 20 กว่าๆ ส่วนจะเคยหรือไม่เคยแต่งงาน อันนั้นเราไม่ซีเรียส เราจะดูทางด้านลักษณะทางกายภาพที่สามารถตั้งครรภ์ได้ คือ มดลูกต้องดี ปีกมดลูกต้องดี เยื่อบุมดลูกต้องดี เหมาะที่จะเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน คือต้องมีความหนาเกิน 7 mm แล้วต้องมีลักษณะที่อุ้มน้ำ สิ่งเหล่านี้เราใช้อัลตราซาวนด์ดูได้ ค่าใช้จ่ายตอนนั้นประมาณ 150,000-200,000 หรืออาจเกินกว่านั้นด้วยซ้ำ อันนี้เฉพาะค่ารักษา ส่วนที่จะว่าจ้างกันอย่างไรนั้นแล้วแต่คนไข้ตกลงกันเอง สำหรับเคสนี้ทำอยู่เป็นปีเหมือนกันตั้งแต่เริ่มกระตุ้นไข่จนตั้งครรภ์จนถึงคลอด ดูเหมือนว่าผู้รับตั้งครรภ์แทนจะได้ค่าจ้าง 1 ล้านบาท ซึ่งเคสนี้นอกจากอุ้มบุญแล้วเค้ายังเลือกเพศด้วย
วิธีการเลือกเพศคร่าวๆ คือ ระยะที่ตัวอ่อนแบ่งตัวประมาณ 8 เซลล์เราจะเจาะ ใช้เข็มที่ทำ อิ๊กซี่ (ICSI) เจาะ จากนั้นจะดึงเซลล์ 1-2 เซลล์ มาย้อมโครโมโซม วิธีนี้มันจะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ หนึ่งรู้ว่าโครโมโซมผิดปกติมั้ย สองคือรู้ว่าเป็นเพศอะไร
เคสของชาวไต้หวันรายนี้ เจาะไข่ได้ 37 ใบ ใช้ยิงทำอิ๊กซี่ได้ 31 ตัวอ่อน แล้วนำ 11 ตัวอ่อนมาละลายเพื่อที่จะหาเพศชาย ละลายเสร็จไปทำ PGD ปรากฏว่าได้ตัวอ่อนผู้ชายตัวเดียว แล้วก็หยอดไป ท้องไม่ท้องไม่เป็นไรเพราะปกติเราละลายตัวอ่อนต้องเผื่อไว้ สมมุติว่าเรามีตัวอ่อน 5 ตัว ถ้าเอามาใช้ครึ่งนึง ก็สัก 3 ตัว แล้ว มันจะมีที่ตายไปด้วยอีก 10-20% ตัวอ่อนเหล่านี้พอเราเลี้ยงถึง 5 วัน มันจะตายไปในระยะที่เราเลี้ยง ฉะนั้นตัวอ่อนที่นำมาละลายไม่ควรน้อยกว่า 6 ตัว ตอนนั้นในเคสนี้เราละลายมา 11 ตัว สมมุติว่ารอดมาประมาณ 7-8 ตัว พอถึงวันที่ 3 ระยะที่เซลล์แบ่งเป็น 6-8 เซลล์ ช่วงนี้เราก็จะเจาะมาทำ PGD ซึ่งรู้สึกว่าตอนนั้นจะเหลือตัวอ่อน 6 ตัว แต่ทำแล้วเหลือผู้ชายตัวเดียว อีก 5 ตัวเป็นผู้หญิงหมดซึ่งเราก็ทิ้งไป เลี้ยงเฉพาะผู้ชายไปถึงวันที่ 5 แล้วหยอดเข้าไปในท้อง รอดูผลว่า ตั้งครรภ์หรือไม่ อย่างไร
ตัวอ่อนที่เหลือก็สามารถแช่แข็งเก็บไว้ใช้ได้อีก อย่างตอนนั้นมี 31 ตัว เราละลายไป 11 ตัว ยังเหลืออีก 20 ตัว ซึ่งระยะเวลาการเก็บถ้าอยู่ภายใน 2 ปี เมื่อกลับมาทำอีกโอกาสจะสำเร็จคือได้เด็กออกมาค่อนข้างจะสมบูรณ์ ถ้ามากกว่านั้นจะไม่ค่อยดีแล้ว ที่เคยพบมีบางรายเหมือนกันที่แช่เก็บไว้ถึง 5 ปี ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บ รู้สึกจะอยู่ที่ ตัวอ่อน 1 ตัว 1,000 บาทต่อปี แล้วก็มีค่าเปิดเครื่องอีกต่างหาก

ต้องบอกอะไรถ้าจะให้ท้องแทน
โดยมากทางคนไข้เค้าจะคุย จะตกลงกันเอง เท่าที่ทราบบางคนก็มีการเซ็นสัญญาแบบใช้ทนายเลย บางคนก็ใช้สัญญาใจ แต่ที่สำคัญ คือ ในขณะตั้งครรภ์ต้องให้ผู้ที่รับตั้งครรภ์แทนอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเกิดคนเหล่านี้ไปมีเพศสัมพันธ์ ติดยาเสพติดหรือดูแลตัวเองไม่ดี เกิดไปติดเชื้อเอดส์หรือเชื้อโรคอื่นๆ มา เด็กก็จะพลอยได้รับเชื้อไปด้วย เพราะฉะนั้นในช่วง 3 เดือนแรกเป็นช่วงการสร้างอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของเด็กในท้อง ต้องใกล้ชิดให้มาก
อีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้รับตั้งครรภ์แทนควรจะมีคือ จะต้องเข้าใจในเรื่องกระบวนการทางการแพทย์ด้วยว่าจะต้องถูกทำอะไรบ้าง เช่น การที่จะเอาไข่ออกจากร่างกาย ต้องมีกระบวนการกระตุ้นโดยการใช้ยาช่วย พอใช้ยาไปจะมีไข่เจริญเติบโตข้างละไม่เกิน 20 ใบ และเมื่อมาถึงระดับหนึ่ง เราจะกระตุ้นให้ไข่เปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้ายโดยการฉีดยา SCG มันเป็นตัวที่จะทำให้ไข่เปลี่ยนแปลงจนสามารถปฏิสนธิได้
มีอยู่รายหนึ่ง เราจะเจาะไข่วันนี้ ก็ฉีดยาไปตอนเที่ยงคืน เพื่อจะเจาะไข่ในตอนเที่ยง เพราะการเจาะจะเป็น 3-6 ชั่วโมงหลังจากฉีดยา เราถามว่า คุณฉีดยาได้มั้ย เค้าก็บอกว่าได้ แต่เค้าจะไปฉีดเองที่ระยองเพราะเค้ามีธุระด่วนต้องไป พอวันที่จะต้องเจาะ เค้ากลับมา ปรากฏว่ามีไข่อยู่แค่ 10 กว่าใบ เจาะไม่ได้ เพราะมันไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงขั้นสุดท้าย ซึ่งทำให้เชื้อกับไข่มันอยู่กันคนในระดับขั้น คือเชื้อพร้อมปฏิสนธิแต่ไข่ไม่พร้อม ถ้าเจาะออกมาก็จะเป็นไข่อ่อนเกินไป
ดังนั้นต้องอธิบายกันให้เข้าใจก่อนว่า ผู้ที่รับตั้งครรภ์แทนต้องทำตัวอย่างไร ต้องเจออะไร และต้องดูแลตัวเองอย่างไร

เลือกคนแบบไหนให้อุ้ม (บุญ) ลูกเรา
ผู้รับตั้งครรภ์แทนควรจะมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันกับผู้ที่เป็นแม่ ถ้าเป็นสายเดียวกัน เช่น พี่สาว น้องสาว ยิ่งเคยตั้งครรภ์มาแล้วยิ่งดี แต่ถ้าไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็ควรจะอายุไม่มากนัก อันนี้เป็นลักษณะทางภายนอก
ส่วนภายในมดลูก รังไข่ เยื่อบุมดลูกต้องดี มีบางคนดูภายนอกก็แข็งแรงดีแต่พอมาตรวจภายในเคยติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ตัน มีเนื้องอกในมดลูก เยื่อบุมดลูกบางเกินไป ลักษณะเหล่านี้คงทำให้ไม่ได้ ยิ่งถ้าปากมดลูกปิดด้วยยิ่งเป็นปัญหา ดังนั้นเราจึงต้องตรวจก่อน การอุ้มบุญแท้ก็เช่นกัน มดลูกต้องดี

อุ้มบุญหรือรับกรรม
ผลกระทบสำหรับผู้ที่รับตั้งครรภ์แทนก็เหมือนกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยทั่วไป แต่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดมากกว่าเล็กน้อย เพราะเด็กซึ่งเกิดมาโดยวิธีการพิเศษเหล่านี้เป็นเด็กที่มีค่า ที่เรียกว่า precious child ดังนั้นช่วง 3 เดือนแรก จะต้องดูแลเต็มที่ อาจจะมีการนัดอัลตราซาวนด์ตั้งแต่ 5-6 สัปดาห์ หลังจากรู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะบางครั้งการตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดที่มดลูกอย่างเดียว อาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้แม้ว่าจะหยอดตัวอ่อนไปทางช่องคลอด ก็ยังเคยมีที่ตัวอ่อนหลุดเข้าไปที่ปีกมดลูก เกิดการตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูกได้ จึงจำเป็นที่จะต้องอัลตราซาวนด์ ถ้าเห็นถุงของการตั้งครรภ์เกิดที่มดลูกก็โอเค แต่ถ้ายังไม่เห็นหัวใจเด็กก็ยังไม่อาจบอกได้ว่า การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์หรือไม่ ดังนั้นผู้ที่รับตั้งครรภ์แทนก็ต้องทำใจว่า จะต้องมาพบแพทย์บ่อยๆ

อย่างนี้ไม่ควรอุ้ม
กรณีที่ไม่ควรทำแม้จะหาผู้รับตั้งครรภ์แทนได้ก็คือ เมื่อเกิดมีปัญหาทางด้านการสื่อสาร ต้องยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นถ้ามีปัญหาทางด้านการสื่อสาร คือ คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แล้วจะให้ทำๆ ไปก่อนอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมาแล้วมันค่อนข้างบานปลายทั้งทางด้านของกฏหมายและจิตใจ
อีกกรณีหนึ่งถ้าจะทำแบบอุ้มบุญแบบไม่แท้ก็คือ คุณแม่ไม่มีไข่หรือมีไข่น้อยเนื่องจากอายุมากก็จะมีเปอร์เซ็นต์ในการสำเร็จน้อยลง ตามปกติในการทำเคสเหล่านี้เราจะใช้ยากระตุ้นช่วยและจะตามด้วยอิ๊กซี่ (ICSI) เสมอ เพราะเราต้องการเปอร์เซ็นต์ในการปฏิสนธิสูง ต้องการให้มั่นใจ ยิ่งแม่อายุมากยิ่งต้องทำเพราะต้องการจำนวนตัวอ่อนเยอะ แต่พออายุมาก บางทีมีไข่แค่ 2-3 ใบ มันก็น้อยไปหน่อย ต้องคอยระวังและอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพราะอาจจะต้องทำหลายครั้ง

ตัดบัวไม่เหลือใย ตัดไฟแต่ต้นลม
เรื่องที่ลืมไม่ได้คือเมื่อคลอดแล้วต้องแยกผู้รับตั้งครรภ์แทนออกจากเด็กทันที เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ การเกิดความผูกพันระหว่างผู้รับตั้งครรภ์แทนกับเด็ก แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เด็กจะไม่ได้รับนมแม่ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็มีทางออกคืออาจจะเพิ่มข้อตกลงกันได้ว่าให้ผู้รับตั้งครรภ์แทนปั๊มนมไว้แล้วนำมาหยอดให้กับเด็กก็ได้

คุณภาพของเชื้อ คุณภาพของไข่ คุณภาพของเด็ก
เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กเมื่อคลอดออกมาแล้วจะแข็งแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับ คุณภาพของไข่และเชื้อ ไม่เกี่ยวกับอายุของผู้รับตั้งครรภ์แทน
ถ้าไข่มาจากแม่ที่อายุมากเกิน 35 โอกาสที่เด็กอาจจะเกิดอาการปัญญาอ่อนก็เป็นไปได้ ถ้าเชื้อไม่แข็งแรง คุณภาพไม่ดี ตัวอ่อนก็จะคุณภาพไม่ดีและเจริญมาเป็นเด็กที่อาจจะไม่แข็งแรงได้ ฉะนั้นถ้ามีปัจจัยเรื่องอายุของแม่หรือเรื่องคุณภาพของเชื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็จะต้องมีการตรวจอย่างละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
แต่ถ้าไข่มาจากแม่ที่อายุน้อยแล้วผู้รับตั้งครรภ์แทนอายุสัก 40 กว่าปี อย่างนี้ไม่มีปัญหาเพราะตัวอ่อนมีความสมบูรณ์ดี
ตัวมดลูกของผู้รับตั้งครรภ์แทนเป็นเพียงรังที่รองรับตัวอ่อนเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เอาตัวอ่อนที่ดีมาไว้ในรังที่แก่ไม่เป็นไร แต่ถ้าเอาตัวอ่อนที่ไม่ดีซึ่งหมายถึงตัวอ่อนที่มาจากไข่อายุมาก เชื้อที่ไม่แข็งแรง ถึงจะนำมาไว้ในรังที่อ่อน ที่สาว ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี คุณภาพของเด็กขึ้นกับคุณภาพตัวอ่อน
มุมมองของกฏหมาย
ตอนนี้สำหรับเมืองไทยยังไม่ออกมาในลักษณะเป็นกฏหมายจริงๆ เป็นลักษณะของจริยธรรมในด้านการรักษามากกว่า ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ว่าควรจะทำอะไรได้บ้าง ถ้ามีคนมาปรึกษาเรื่องนี้แพทย์ก็ต้องอธิบายให้ผู้รับการรักษาเข้าใจว่า เขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ให้คำแนะนำกับเค้า อย่างเช่น อัตราการตั้งครรภ์มีเพียง 50% นะ แล้วต้องคุยตกลงกันให้ดีใน 3 คนนี้ แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นเรื่องของผู้รับการรักษา

มุมมองของแพทย์
ในฐานะแพทย์ เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ทำให้คนมีลูกยากสามารถมีลูกได้ ก็รู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับเค้าด้วยเสมอที่ทำให้ผู้มารับการรักษาได้รับผลที่ดี มีความสุขกลับไป เวลาที่มาทำแล้วไม่ท้อง ไม่สำเร็จเราก็เครียดไปด้วย เพราะคนที่มารับการรักษาในเรื่องเหล่านี้จะมีความคาดหวังสูงมาก ในขณะที่อัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ 50-60% แต่ความคาดหวังนั้นพุ่งไปถึง 90-100% ด้วยซ้ำ
ดังนั้นอยากบอกทุกคนที่มีลูกยากและอยากจะมีลูกโดยเลือกวิธีนี้ว่า ต้องเตรียมใจไว้บ้าง ทุกขั้นตอนมันมีโอกาสที่จะสำเร็จและไม่สำเร็จ เพราะมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของผู้ที่รับตั้งครรภ์แทน คุณภาพของไข่ คุณภาพของเชื้อ คุณภาพของตัวอ่อน ในความเป็นแพทย์ ทุกคนก็พยายามทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้.

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม